วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน





     เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และกระตุ้นจิตสำนึกของพนักงาน สถานประกอบการ อาจพิจารณาเลือกกิจกรรมใด ๆ ที่มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์และความพร้อมของ สถานประกอบการ ดังต่อไปนี้

               1.   การจัดนิทรรศการ
               2.    การบรรยายพิเศษ
               3.    การสนทนาความปลอดภัย
               4.    การประกวดคำขวัญความปลอดภัย
               5.    การประกวดภาพโปสเตอร์
               6.    การตรวจสุขภาพอนามัย และการทดสอบสมรรถภาพ
               7.    การรณรงค์การใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคล
               8.    การรณรงค์ความปลอดภัย ด้วยโปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัย
               9.    การประกวดรายงานสภาพงานที่ไม่ปลอดภัย
             10.    การกระจายเสียงบทความ
             11.    การเผยแพร่บทความในวารสาร
             12.    การประกวดความสะอาด
             13.    การรณรงค์กิจกรรม 5 ส
             14.    การรณรงค์ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ด้วย KYT
             15.    การตอบปัญหาชิงรางวัล
             16.    การทำแผ่นป้ายแสดงสถิติอุบัติเหตุ หรือป้ายประกาศ
             17.    การแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย
             18.   การจัดฉายวิดีโอความปลอดภัย
             19.    การทัศนศึกษาในสถานประกอบการอื่น
             20.    กิจกรรมอื่น ๆ เช่น
                      20.1 แรลลี่ความปลอดภัย
                      20.2 การโต้วาที หรือการแซววาที
                      20.3 กายบริหาร




1.    การจัดนิทรรศการ
        การจัดนิทรรศการเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างสรรค์ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ชม ซึ่งได้รับความนิยมมากในการจัดกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน แต่ความสำเร็จของการจัดกิจกรรมประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเสนอ ซึ่งสามารถเลือกได้หลายวิธี ตามแต่ความพร้อมของสถานประกอบการแต่ละแห่ง อาทิเช่น
2.   การบรรยายพิเศษ
       การบรรยายพิเศษ คือ การเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยในการทำงานมาบรรยายหัวข้อเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่สถานประกอบการเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน หรือมีจุดประสงค์ จะให้วิทยากรช่วยแนะนำตักเตือนพนักงานให้ระมัดระวัง ทำงานด้วยความมีสติ ไม่ประมาท และปฏิบัติตามกฎของความปลอดภัย ซึ่งปกติหัวหน้างานอาจจะได้แนะนำตักเตือนอยู่แล้ว แต่พนักงานชินชาและไม่ค่อยให้ความสนใจการเชิญวิทยากรจากภายนอกมาบรรยายจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว ระยะเวลาของการบรรยาย ควรใช้เวลาพอสมควร ระหว่าง 1 - 3 ชั่วโมง หากใช้เวลานาน 3 ชั่วโมงควรมีการพักเพื่อให้วิทยากรได้พัก และพนักงานได้ดื่มเครื่องดื่ม และเปลี่ยนอิริยาบถ
3.    การสนทนาความปลอดภัย
        การสนทนาความปลอดภัยหรือการเปิดอภิปรายปัญหาความปลอดภัย คือ การเชิญวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านความปลอดภัยในการทำงานหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมสนทนา เพื่อแสดงความคิดเห็นแง่มุมต่าง ๆของอันตรายจากความประมาทในการทำงาน พร้อม แนะแนวความคิดในการสร้างสรรค์ความปลอดภัย เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่พนักงาน และสามารถนำความคิดเห็นเหล่านี้ไปใช้งานของตนได้ ตอนท้ายของรายการ สนทนา ควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้ซักถามปัญหากับวิทยากรเพื่อหาคำตอบที่สงสัย สำหรับก่อนการอภิปรายนั้นตัวแทนของสถานประกอบการที่ติดต่อกับวิทยากร ควรให้รายละเอียดบางประการแก่วิทยากร เพื่อให้วิทยากรได้แนวในการอภิปรายและสามารถหยิบยกปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวของพนักงานขึ้นมาเป็นตัวตุ๊กตาในการเสนอความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้พนักงานให้ความสนใจมากกว่าการที่วิทยากรนำตัวอย่างที่ห่างไกล และไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของพนักงานมาเป็นเรื่องสนทนา

4.    การประกวดคำขวัญความปลอดภัย        การจัดให้มีการประกวดคำขวัญความปลอดภัย เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในสถานประกอบการ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือสังคมที่ตนสังกัดอยู่ในการที่จะเตือนใจเพื่อนร่วมงานให้มีความระมัดระวัง และมีสติในขณะปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาจิตสำนึกและทัศนคติของตัวพนักงานเองให้ได้คิดใคร่ครวญ และทบทวนถึงวิธีการปฏิบัติงานของตนเองว่าถูกหรือผิดอย่างไร แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นข้อความ หรือคำขวัญที่เป็น การเตือนการให้ระมัดระวัง ตลอดจนวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย
        การดำเนินงานจัดประกวดคำขวัญความปลอดภัยในสถานประกอบการปกติคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการความปลอดภัยในการทำงาน หรือฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากฝ่ายจัดการโรงงาน ในการที่จะจัดสรรงบประมาณให้และเข้ามีส่วนร่วม ผู้ดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อยกร่างกติกาการประกวด การประชาสัมพันธ์ การคัดเลือก และการตัดสิน
5.    การประกวดภาพโปสเตอร์
        วัตถุประสงค์ของการจัดประกวดภาพโปสเตอร์ภายในสถานประกอบการ เพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในการกระตุ้นจิตสำนึก เรื่องความปลอดภัยในการทำงานทำให้พนักงานให้ความสนใจในกิจกรรมด้านความปลอดภัยและมีทัศนคติที่ดี ผลการประกวด สถานประกอบการ สามารถนำมาเผยแพร่เป็นการภายใน และใช้ประโยชน์ในการย้ำเตือนให้พนักงานมีความระมัดระวังในขณะปฏิบัติงาน นอกจากนี้แล้วยังอาจนำไปร่วมการประกวดภาพโปสเตอร์ความปลอดภัยระดับชาติอีกด้วย
6.     การตรวจสุขภาพอนามัย และการทดสอบสมรรถภาพ
        การตรวจสุขภาพอนามัยเป็นกิจกรรมหนึ่งของการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อที่จะได้ทราบสภาพร่างกาย และสมรรถภาพทางกายของพนักงานว่ายังคงเหมือนเดิม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะการทำงานในสภาวะแวดล้อม ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และสมรรถภาพทางกาย อาทิเช่น การทำงานในที่ที่มีเสียงดังมาก การทำงาน ในที่ซึ่งมีฝุ่นละอองมาก การทำงานเกี่ยวกับสารเคมี การทำงานอยู่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น การตรวจสุขภาพอนามัย และการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เพื่อนำผลการตรวจและทดสอบมาทำการวิเคราะห์ หรือการเฝ้าระวังโรคเป็นระยะ ๆ จะทำให้ทราบว่าสมควรที่พนักงานดังกล่าวคงทำงาน ณ ที่นั้นอยู่ต่อไป หรือสมควรจะสับเปลี่ยนให้ไปทำงานอย่างอื่น เป็นการวินิจฉัยว่า โรงงานนั้นสมควรจะได้มีการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ให้มีมลภาวะน้อยลงกว่าเดิมเพื่อไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยของพนักงาน
7.     การรณรงค์การใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคล
        สภาพการทำงานของพนักงานในโรงงาน อาจต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายต่อ สุขภาพอนามัย เช่น ความร้อน ความเย็น ฝุ่นละออง เสียง  แสง ฟูม หรือสารเคมี อันตรายที่สามารถก่อให้เกิด โรคเรื้อรังได้ วิธีป้องกันอันตรายดังกล่าวที่ดีที่สุดคือ การควบคุมขจัดสาเหตุของปัญหาในจุดที่เกิด เช่น  ทำให้ไม่เกิดฝุ่น ฟูม หรือลดความดังของแหล่งเกิดเสียง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานแก้ไขหรือควบคุมเป็นวิธีการที่ต้องลงทุนสูงและอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงาน ดังนั้นวิธีการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือช่วยบรรเทาปัญหา คือ การให้พนักงานได้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคล เช่น การสวมหมวกนิรภัย ที่อุดหูหรือที่ครอบหู ที่ปิดจมูกกันฝุ่น ป้องกันฟูม เป็นต้น แต่บ่อยครั้งการลงทุนในด้านนี้ของสถานประกอบการเป็นการสูญเปล่า เนื่องจากพนักงาน ไม่นิยมใช้และไม่เคยชินกับการใช้จึงไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่
8.    การรณรงค์ความปลอดภัยด้วยโปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัย
        โปสเตอร์และสัญลักษณ์ความปลอดภัยเป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการเตือนจิตสำนึกของพนักงาน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน    บางครั้งพนักงานอาจจะหลงลืมไปว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่หรือแม้จะรู้อยู่แก่ใจแต่ไม่สนใจและคิดว่าคงไม่มีอันตรายเกิดขึ้น ดังนั้น การติดแผ่นภาพโปสเตอร์พร้อมคำขวัญ เพื่อเตือนสติ และรูปภาพสัญลักษณ์  ที่กำหนดให้กระทำ เตือน หรือละเว้นการกระทำใด ๆ ก็ตาม จะช่วยกระตุ้นเตือนให้สมองสั่งการได้ถูกต้อง และไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นสาเหตุของการประสบอันตราย สถานประกอบการอาจเลือกแผ่นภาพโปสเตอร์รณรงค์ความปลอดภัย หรือรูปภาพสัญลักษณ์ความปลอดภัยที่เหมาะสมกับสภาพการทำงานนั้น ๆ ไปติดให้พนักงานได้เห็นอย่างชัดเจน และย้ำเตือนให้ปฏิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยของตัวพนักงานเอง
9.    การประกวดรายงานสภาพงานที่ไม่ปลอดภัย
        ในการดำเนินงานเพื่อลดการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น สามารถลดโดยการ สำรวจสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยได้ถึง 98%   ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อันได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน การสูญเสียเวลา สูญเสียกำลังการผลิต สูญเสียเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนมีผลต่อขวัญกำลังใจของพนักงานอื่น ๆ
10.   การกระจายเสียงบทความ
         สถานประกอบการบางแห่ง อาจมีศักยภาพในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภายในโรงงานด้วย การกระจายเสียงตามสาย ในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน เป็นช่วงที่พนักงานมีเวลาว่าง พักผ่อนระหว่างรับประทานอาหาร ช่วงก่อนเข้าทำงาน ช่วงบ่าย เวลาในช่วงนี้ จึงมีประโยชน์ที่จะใช้ในการเผยแพร่ ความรู้ด้านความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน ได้จัดทำบทความสั้นเกี่ยวกับ ความปลอดภัยในการทำงานที่สามารถอ่านออกอากาศ ในช่วงระยะเวลา 1-2 นาที เพื่อให้สถานประกอบการนำไปเผยแพร่แก่พนักงาน โดยติดต่อขอรับได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน
11.    การเผยแพร่บทความในวารสาร
          มีสถานประกอบการหลายแห่งที่จัดทำวารสารประชาสัมพันธ์แจกจ่ายแก่พนักงานเป็นรายปักษ์ หรือ รายเดือน   อาจจะนำบทความความปลอดภัยในการทำงานไปตีพิมพ์ในวารสาร เพื่อเผยแพร่ ความรู้ เทคนิคใหม่ๆที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในนการทำงาน

12.    การประกวดความสะอาด
         ความสะอาดในพื้นที่ทำงานในโรงงานและบริเวณสถานประกอบการ เป็นสิ่งสำคัญไม่เฉพาะเพื่อ ให้เกิดสุขภาพอนามัยที่ดีแก่นายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อายุการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักร ประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องจักร คุณภาพของผลผลิต ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ตลอดจนภาพพจน์ที่ดีของสถานประกอบการ ดังนั้นความสะอาดจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของการบริหารโรงงาน ความสำเร็จของกิจการจะมองข้ามสิ่งนี้ไปไม่ได้ ความสะอาดเป็นสิ่งที่ต้องให้ความเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา เพราะขั้นตอนของการผลิตนั้นมีกระบวนการต่าง ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดความสกปรกรกรุงรังได้ อันเนื่องจากเศษวัสดุ การสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ ของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และมลภาวะอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีความสกปรกที่เกิดจากการกระทำของพนักงานเอง การดูแลความสะอาดนั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือของพนักงานทุกคนในแต่ละแผนก การประกวดความสะอาดเป็นการจูงใจพนักงานให้เกิดการเอาใจใส่กระตือรือล้นที่จะดูแลรักษา ข้อพิจารณาในการตัดสินจะต้องตั้งเป้าหมาย  และมาตรฐานความสะอาดให้ชัดเจน และจำเป็นต้องพิจารณาลักษณะของประเภทงานด้วย เพราะงานบางประเภทอาจก่อให้เกิด เศษวัสดุ ของเสีย มลภาวะอย